การจัดเวทีชุมชนแบบมีส่วนร่วม

admin

admin

ในการลงชุมชนนอกจากจะต้องพกอาวุธซึ่งคือเครื่องมือศึกษาชุมชนไปด้วยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการลงชุมชนคือกระบวนการจัดเวทีชุมชน ที่จะช่วยสร้างบรรยากาศให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมและเกิดการปลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างอิสระ
.
.
ในการทำงานชุมชนที่ต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติการ วิธีการสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ชุมชนเกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง คือ การจัดเวทีประชุม ซึ่งการจัดเวทีประชุมมี function หลายแบบ ทั้งจัดเวทีเพื่อเก็บข้อมูล การจัดเวทีสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง การจัดเวทีเพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นต้น การฝึกจัดเวทีจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของทีม ในการทำงานอย่างเป็นระบบ ทั้งการออกแบบการจัดเวทีประชุม และการแบ่งบทบาทหน้าที่ในเวที
.
.
ซึ่งในครั้งนี้ Admin จะมาเล่าถึงกระบวนการในการจัดเวทีชุมชนเพื่อการศึกษาข้อมูลชุมชนเบื้องต้นให้ฟังกัน
โดยขั้นตอนทั่วไปในการจัดเวทีชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
1) กำหนดเป้าหมายของเวที ก่อนจะลงไปจัดเวทีชุมชนเราจะต้องกำหนดเป้าหมายของการจัดเวทีว่าครั้งนี้เราต้องการอะไรจากชุมชน หรือเราจะพาชุมชนไปให้ถึงเป้าหมายในเรื่องอะไร และทำการออกแบบกระบวนการก่อนจัดประชุมเสมอ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรม หรือตั้งคำถามขณะทำกิจกรรมกับชุมชนได้ ซึ่งข้อควรระวังคือไม่ควรมุ่งเน้นจะไปเก็บข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่ต้องออกแบบกระบวนการให้ได้ทั้งข้อมูลและความสัมพันธ์กับชุมชนด้วย

2) ขั้นลงมือปฏิบัติกิจกรรม ในขั้นตอนนี้ต้องมีการสร้างความคุ้นเคยกับกลุ่มเป้าหมายก่อน โดยวิธีการแนะนำตัวหรือวิธีการอื่น ๆ ตามความเหมาะสม แล้วจึงเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรม

3) ขั้นการเก็บข้อมูล เริ่มสนทนาในเวทีประชุม โดยใช้เครื่องมือการเก็บข้อมูลชุมชนแบบมีส่วนร่วม เช่น Timeline แผนที่รอบใน / แผนที่รอบนอก ปฏิทินชุมชน ทุนชุมชน เป็นต้น โดยพยายามให้ชาวบ้านเป็น “ผู้ลงมือทำ” และมีเรา “เป็นคนตั้งคำถาม” เพื่อทำให้ชาวบ้านรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ มากกว่าการเป็นผู้ให้ข้อมูลเพียงอย่างเดียว และให้ชาวบ้านเกิดการทบทวนและตระหนักต่อการทำความเข้าใจชุมชนและปัญหาในชุมชนของเขาเอง อาจจะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การได้ข้อมูลที่สมบูรณ์มากนัก แต่เป็นการสร้างมิติความสัมพันธ์มากกว่า

4) การจดบันทึกข้อมูล ข้อมูลที่ได้จากการทำกิจกรรมต้องมีการสรุปและจดบันทึกไว้ทันที อาจจะชวนชาวบ้านที่มีศักยภาพ มีแววมาร่วมเป็นคนจดบันทึก หรือเราเตรียมทีมไปช่วย เพื่อไม่ให้เกิดการสูญหายของข้อมูล เพราะในกระบวนการทำกิจกรรมจะมีการเคลื่อนไหว เคลื่อนย้ายของข้อมูลอยู่ตลอดเวลา

5) การตรวจสอบข้อมูล การตรวจสอบข้อมูลสามารถทำได้ทันทีในขณะที่กิจกรรมดำเนินอยู่เพราะในกระบวนการของวิธีการนี้ ผู้ให้ข้อมูลจะแสดงความคิดเห็นต่อข้อมูลที่เพื่อนในกลุ่มให้อยู่ตลอดเวลา ในกรณีที่ความคิดเห็นต่อข้อมูลของผู้ให้ไม่ตรงกัน จึงถือว่าการตรวจสอบข้อมูลเป็นการตรวจสอบโดยกลุ่มผู้ให้ข้อมูลเอง

6) ประเด็นที่จะศึกษาจะเริ่มจากประเด็นที่เป็นรูปธรรม เช่น แผนที่ที่ตั้งของแต่ละครัวเรือน จำนวนสมาชิก ฯลฯ แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นประเด็นที่เป็นนามธรรมขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ระบบเครือญาติ ความสัมพันธ์ในชุมชน เป็นต้น

7) การสรุปบทเรียนการจัดประชุม สิ่งที่ขาดไม่ได้จากการเก็บข้อมูลแบบมีส่วนร่วมทุกครั้งคือการสรุปบทเรียนการเรียนรู้หลังการจัดเวทีประชุม เพื่อให้คนในชุมชนได้สะท้อนสิ่งที่เขาได้รับและเป็นการตอกย้ำซ้ำทวน สิ่งที่เป็นประโยชน์จากการจัดประชุม โดยมีคำถามตัวอย่าง เช่น
” ความรู้สึกของการได้เข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรมครั้งนี้เป็นอย่างไร “
“เราได้เรียนรู้อะไรจากการมาทำกิจกรรมร่วมกันในครั้งนี้ เป็นต้น”

8) การเปิดพื้นที่การพูดคุย พยายามส่งเสริมให้ชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรมได้อภิปราย แลกเปลี่ยน หรือปรับปรุงข้อมูลอยู่ เรื่อย ๆ เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อมูลวิธีหนึ่งไปด้วย ซึ่งวิธีการนี้จะได้ผลดียิ่งขึ้น ถ้ากิจกรรมดังกล่าวสามารถนำไปสู่การอภิปราย เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา และลงมือทำจริง ๆ ได้

Related Content

สาระทั่วไป
สร้างสรรค์ปัญญา

สอจร. News.

การพัฒนาศักยภาพทีมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานอำเภอเสี่ยงภัยทางถนนในรถจักรยานยนต์ ครั้งที่ 1