10 คุณลักษณะชุมชนบริหารจัดการน้ำ

Picture of สร้างสรรค์ปัญญา

สร้างสรรค์ปัญญา

โครงการวิจัยแนวทางการพัฒนากลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อเพิ่มความสามารถในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ (2564)

บริษัท สร้างสรรค์ปัญญา จำกัด และศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ขับเคลื่อนโครงการวิจัยแนวทางการพัฒนากลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อเพิ่มความสามารถในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ ขึ้น โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อสร้างรูปธรรมองค์กรผู้ใช้น้ำที่มีความสามารถในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ ให้สอดรับกับแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  เกิดการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยอาศัยระบบฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศของชุมชน เชื่อมประสานกับความรู้และเทคโนโลยีจากภายนอกเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการจัดการน้ำของพื้นที่ โดยขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมใน 33 ตำบล 15 จังหวัด ใน 5 ภูมิภาค ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยและศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค ซึ่งจากบทเรียนการดำเนินกิจกรรมพบว่าคุณลักษณะสำคัญในการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น มีประเด็นที่ต้องประเมินใน 10 เรื่องสำคัญ ดังนี้

1) การจัดตั้งกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่มาจากการมีส่วนร่วมและการรวมกลุ่มของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยมีอำนาจหน้าที่และระเบียบในการบริหารจัดการภายในที่ชัดเจน มีการแบ่งบทบาทและหน้าที่ในการดำเนินงานที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

2) การวิเคราะห์ศักยภาพของคณะกรรมการกลุ่มในการบริหารจัดการน้ำชุมชน ทั้งในเรื่องของการเก็บข้อมูลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล การใช้เทคโนโลยีเพื่อการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการกลุ่ม และทักษะการปรับตัวอย่างเท่าทัน เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ / การเปลี่ยนแปลงของระบบตลาด เป็นต้น โดยกลุ่มฯ ต้องมีแผนในการพัฒนาศักยภาพให้กับคณะกรรมการกลุ่มที่ชัดเจน

3) การมีระบบฐานข้อมูลชุมชน เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะข้อมูลระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการวางแผนการจัดการน้ำ / ข้อมูลสมดุลน้ำชุมชน ตลอดจนข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่ โดยต้องมีแผนการจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน

4) มีกระบวนการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม โดยทุกขั้นตอนต้องเปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วมจากคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่นและเครือข่ายสายน้ำ

5) มีแผนการบริหารจัดการน้ำชุมชน ที่สอดคล้องกับระบบภูมินิเวศของลุ่มน้ำ ต้นทุนน้ำของพื้นที่ รวมทั้งความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์น้ำ 6 ด้านที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำของชุมชน โดยเชื่อมโยงกับดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ เพื่อการบริการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

6) มีระเบียบ / มาตรการของชุมชน ในการบริหารจัดการน้ำที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันในการปฏิบัติการของคนในชุมชนท้องถิ่น

7) มีการจัดการด้านการเงินของกลุ่ม ในรูปแบบกองทุนเพื่อจัดการน้ำชุมชน โดยมีการสร้างรายได้ของกลุ่ม เช่น การเก็บเงินจากสมาชิกเป็นค่าบริหารจัดการน้ำชุมชน การขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น

8) มีกลไกการติดตามและประเมินผล การบริหารจัดการน้ำชุมชนแบบมีส่วนร่วม มีแผนในการติดตามหนุนเสริมกิจกรรมกลุ่มและมีองค์ประกอบของทีมติดตามที่มีความหลากหลาย

9) มีกลไกการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เครือข่ายต่อรองข้ามพื้นที่ / กลุ่ม การเชื่อมประสานการทำงานร่วมกับ อปท. / แผนพัฒนาตำบลฯ การดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกพื้นที่

10) มีการส่งเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพ ของคนในชุมชนต่อการบริหารจัดการน้ำ มีกิจกรรมฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพ มีการส่งเสริมความรู้และสื่อสารข้อมูลที่เท่าทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในแง่ของสภาวะอากาศหรือกลไกการผลิตและการตลาด

Related Content

สาระทั่วไป
สร้างสรรค์ปัญญา

สอจร. News.

การพัฒนาศักยภาพทีมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานอำเภอเสี่ยงภัยทางถนนในรถจักรยานยนต์ ครั้งที่ 1